
การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบที่คุณเคยทำ อาจไม่ดีพอ ถึงแม้ว่าในประเทศไทย “มะเร็งปากมดลูก” พบเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม แต่กลับมีการเสียชีวิตที่สูงที่สุดมากกว่ามะเร็งเต้านม ในบรรดาโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิง
ในแต่ละวันจะมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึง 14 คน จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ ปีละประมาณ 10,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ ปีละ 5,000 ราย หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 14 รายต่อวัน* และที่น่าตกใจกว่านั้น ดิฉันได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง เธอมีคู่นอนเพียงคนเดียวมาทั้งชีวิต และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยตรวจภายในด้วยวิธี Pap Smear ทุกปี แต่เธอกลับเฉียดเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
ดังนั้น แค่ตรวจแบบ Pap Smear อย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะว่า Pap Smear มีความแม่นยำเพียง 53% เท่านั้น (นี่แปลว่าความแม่นยำของการตรวจพลาดไปครึ่งนึงเลยนะ) และ 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกเคยตรวจ Pap Smear และได้ผลปกติ (Negative) ดิฉันเลยคิดว่าด้วยสถิตินี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งปากมดลูก กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหรือไม่
ที่สำคัญ มะเร็งปากมดลูกไม่ได้เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเท่านั้น ในเมื่อมันเลี่ยงไม่ได้ขนาดนี้แล้วพวกเราต้องป้องกันตัวเองอย่างไร อ่านต่อเลยค่ะ ..
ผู้หญิง 4 ใน 5 คนจะติดเชื้อ HPV ได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต หลายคนสงสัยว่า HPV ไปเกี่ยวอะไรกับมะเร็งปากมดลูก ก็เพราะโรคมะเร็งปากมดลูกเกือบทุกรายมีสาเหตุมาจากเชื้อ Human Papillomavirus (HPV) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่พบได้ง่าย ผู้หญิงเรามักจะติดเชื้อ HPV โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยก็ได้
*(จากบทสัมภาษณ์ นพ. วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล อดีตนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ตีพิมพ์ ในวารสารวงการแพทย์ 1-15 สิงหาคม 2557)



การติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ ไม่เป็นอันตราย และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราจะสามารถขจัดเชื้อชนิดนี้ออกไปได้เอง (หากร่างกายเราแข็งแรง แต่ถ้าเมื่อไรที่ร่างกายเราอ่อนแอ เชื้อ HPV ก็สามารถพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เลย) ถ้าเราปรับวิธีการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น อย่างเช่น การพักผ่อนให้เต็มที่ ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักใบเขียว อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้หญิงบางราย เชื้อ HPV สามารถอยู่ในร่างกายเราได้เป็นเวลานาน (บางครั้งใช้เวลานานถึง 10 ปี) และก็พัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งกว่าจะแสดงอาการ มะเร็งก็ลุกลามไประยะเกือบสุดท้ายแล้ว

ใครๆ ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้ การติดเชื้อ HPV ไม่ได้เป็นสิ่งสะท้อนถึงตัวคุณ คู่รัก หรือไลฟ์สไตล์ของคุณแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นไม่ต้องอายที่จะไปตรวจสุขภาพ แต่ผู้หญิงหลายคนมักคิดว่าตนเองคงไม่ติดเชื้อ HPV เพราะเข้าใจผิดว่าการติดเชื้อ HPV จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีสุขอนามัยที่ไม่ดีเท่านั้น ความคิดเช่นนั้นไม่จริงเลย การติดเชื้อ HPV สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้ว่าคุณจะมีสามีแค่คนเดียวก็ตาม


การตรวจคัดกรองเป็นวิธีที่ช่วยปกป้องคุณจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการตรวจ 2 ประเภทที่แตกต่างกัน ได้แก่ แพปสเมียร์ (Pap Smear) และการตรวจ HPV DNA (HPV DNA Test) ดูรูปเปรียบเทียบ
• Pap Smear สามารถตรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเซลล์ปากมดลูกเมื่อมะเร็งได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถปกป้องคุณจากมะเร็งปากมดลูกได้อย่างเต็มที่ ผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าผู้หญิง 1 ใน 3 คนที่ผลตรวจ Pap Smear ปกติ กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในภายหลัง
• การตรวจ HPV DNA จะสามารถตรวจหาการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงก่อนที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เซลล์ปากมดลูก หรือก่อนที่มะเร็งจะเกิดขึ้น
การตรวจหาเชื้อ HPV ไม่เพียงแต่ทำให้คุณรู้ว่าคุณมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ แต่การตรวจยังทำให้คุณสบายใจได้หากรู้ว่าคุณไม่มีความเสี่ยงนั้นเลย
การตรวจทางสูตินรีเวชไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย การกลัวและอายแพทย์อาจทำให้คุณอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ดิฉันมักบอกคนที่บอกดิฉันว่าไม่กล้าตรวจเพราะกลัวรู้ว่าเป็นจะเครียด ดิฉันว่าตรวจเถอะ รู้ว่า ‘เป็น’ตอนตรวจ ดีกว่ารู้ตอนที่ตัวเองกำลังจะ ‘ตาย’ พราะการตรวจช่วยปกป้องคุณจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด
การตรวจ HPV บางประเภทแค่บอกให้คุณรู้ว่าคุณติดเชื้อ HPV หรือไม่ และการตรวจบางประเภทก็บอกให้คุณรู้ว่าคุณติดเชื้อ HPV กลุ่มเสี่ยงสูง ในขณะที่การตรวจไปถึงระดับ DNA จะช่วยให้คุณหมอสามารถรู้ลึกถึงสายพันธุ์ บอกลึกลงไปได้ว่าคุณติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด นั่นคือเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18

Share this Post

ถาม-ตอบ
Q : วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือการตรวจแบบไหน
A : HPV DNA test ค่ะ ได้ผลเกือบ 100% ครั้งหน้าอย่าลืมระบุกับคุณหมอนะคะว่าขอตรวจด้วยวิธีนี้
Q : จำเป็นต้องทำการตรวจทุกปีไหมคะ
A : ข้อดีของการตรวจ HPV DNA test คือตรวจได้ทุก 3-5 ปี ถึงแม้ราคาจะแพงกว่า Pap Smear แต่คิดในระยะยาวคือสามารถเว้นได้ 3-5 ปี เพราะ Pap Smear ต้องไปตรวจทุกปี แถมความแม่นยำแค่ 53%
Q : การติดเชื้อ HPV มีอาการเตือนไหมคะ?
A : HPV ไม่มีอาการ ดังนั้นนี่คือสาเหตุที่เราต้องไปตรวจค่ะ กว่าอาการจะแสดง คุณก็อาจจะเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะสุดท้ายแล้ว
Q : ใครบ้างที่ควรตรวจ HPV?
A : HPV เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกคน (ทั้งชาย/หญิง) ทั้งๆ ที่มีชื่อว่า “มะเร็งปากมดลูก” ก็ตาม ดังนั้นทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงควรจะไปตรวจค่ะ และฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี (ฉีด 3 เข็มต่อเนื่อง) แต่วัคซีนไม่ได้ช่วยได้ 100% เพราะป้องกันโรคที่ติดเชื้อ HPV ได้บางสายพันธุ์เท่านั้น และไม่ได้ช่วยรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV ที่ร่างกายมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว
คนที่จะฉีดวัคซีน HPV ให้ได้ผลดีที่สุดคือ ต้องฉีดก่อนได้รับเชื้อ HPV หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกด้วยซ้ำ และตอนนี้ต่างประเทศมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกัน HPV ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายแล้ว (เมืองไทยใช้ชื่อว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ชายคิดว่าเขาไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้หรือไม่มีมดลูกทำไมต้องฉีดวัคซีน ทั้งที่จริงๆแล้ว ผู้ชายก็ติดเชื้อ HPV ได้นะคะ เช่นเป็นโรคหูดหงอนไก่)
Q : หาข้อมูลเพิ่มเติมและขอคำปรึกษาได้ที่ไหนคะ?
A : ปัจจุบันเทสต์ตรวจ HPV DNA มีให้บริการในสถานพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชนทั่วไป เบื้องต้นสามารถดูลิสต์โรงพยาบาลได้ที่ www.hpvactnow.com ค่ะ หรือก่อนไปตรวจ ให้โทรไปถามที่โรงพยาบาลก่อนนะคะว่ามีการตรวจแบบ HPV DNA หรือไม่
สุดท้ายนี้หวังว่าทุกคนควรจะเลิกอาย และกล้าพอที่จะตรวจเช็คร่างกายและระบุของการตรวจคัดกรองแบบ HPV DNA test ในครั้งต่อไปของการตรวจมะเร็งปากมดลูก เพราะมะเร็งปากมดลูก…น่ากลัว…ตายเยอะ แต่ป้องกันได้ค่ะ
Share this Post