จาก ‘พ่อ’ ของเรา สู่ 9 ประวัติศาสตร์ที่กลายมาเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่

น้อมเกล้าฯ ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและร่วมถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า Kamonchanok และทีมงาน ..

เราจะมาร่วมน้อมรำลึกถึง ‘พ่อ’ ผ่านเรื่องราวแห่งความทรงจำ 9 ประวัติศาสตร์ชาติไทย กว่าผืนแผ่นดินจะกลายมาเป็นปึกแผ่นจนคนไทยนั่นอยู่ร่มเย็นเป็นสุขนั้น มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ที่เราชาวไทยจะต้องจดจำไปบอกเล่าให้ลูกหลานได้ยินได้ฟัง ว่าเราช่างโชคดีที่เกิดมาบนผืนแผ่นดินของ ‘พ่อ’ ดังนี้

1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพในราชสกุล มหิดล อันเป็นสายหนึ่งในราชวงศ์จักรี ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เสด็จพระราชสมภพที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

2. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะที่ยังทรงพระเยาว์ พระชนมายุยังไม่เต็ม 19 พรรษา ไม่ทรงรู้พระองค์มาก่อนว่าจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทย และขณะนั้นกำลังทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยโลซาน ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

3. เถลิงถวัลยราชสมบัติ 9 มิถุนายน 2489

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 สืบแทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์นานที่สุดในโลกที่มีพระชนมชีพอยู่ และยาวนานที่สุดในประเทศไทย

4. ในหลวงไม่ทิ้งประชาชน

เดิมทีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า จะทรงครองราชสมบัติเพียงชั่วระยะเวลาจัดงานพระบรมศพพระบรมเชษฐาให้สมเกียรติเท่านั้น แต่ความจงรักภักดีของเหล่าอาณาประชาราษฎร์ที่มีต่อพระองค์อย่างแน่นแฟ้น ยังผลให้ตัดสินพระราชหฤทัยรับราชสมบัติ

ซึ่งมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อกลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 เพื่อทรงศึกษาวิชาการเพิ่มเติม ระหว่างประทับรถพระที่นั่งไปสู่สนามบินดอนเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ยินเสียงราษฎรคนหนึ่งตะโกนลั่นว่า “ในหลวง อย่าทิ้งประชาชน” ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้”

5. การตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์

การตัดสินพระทัยรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงแต่จะทำให้ประเทศไทยและคนไทยคลายความโศกเศร้าที่ต้องเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลไปเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศไทยและคนไทยได้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ ผู้ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะอุทิศทั้งพระวรกายและพระหฤทัย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทย ในทันทีที่ทรงรับราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาจากวิชาวิทยาศาสตร์ไปเป็นวิชาสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ โดยที่ทรงเห็นว่าเป็นวิชาที่สำคัญและจำเป็นสำหรับตำแหน่งประมุขของประเทศ

6. พระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชน

ตลอดระยะเวลาที่ทรงอยู่ในฐานะพระมหากษัตยริย์ พระราชกรณียกิจทั้งปวงที่ทรงปฏิบัติมานั้น เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาคิดถึงแต่การที่จะบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชน คนไทยส่วนใหญ่เป็นกสิกร อาศัยดินและน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพ เพราะฉะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในเรื่องดินและน้ำ ยังทรงคิดค้นหาวิธีที่จะให้กสิกรได้ใช้ประโยชน์จากพื้นดินและแหล่งน้ำในประเทศไทยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปสารทิศใดก็ตาม ทรงศึกษาทั้งสองเรื่องอย่างละเอียดลึกซึ้ง

7. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ครั้งแรก

เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาคนโตของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ครั้งแรกที่กรุงปารีส เมื่อ พ.ศ.2490 ขณะนั้นพระบิดาทรงเป็นอัครราชทูตและครอบครัวได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเสมอ

เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ได้เกิดงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสจัดขึ้น ณ พระตำหนักใหม่วังสระปทุม วันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นพระตำหนักชั้นบนพร้อมด้วยหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ถวายดอกไม้ธูปเทียนแพแด่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าตอนกลางคืนมีงานพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายใน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในหมู่พระประยูรญาติและข้าราชบริพารใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน นับเป็นงานฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่เล็กที่สุดงานหนึ่ง

8. เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

ต่อมา วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตยริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเปล่งเสียงพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม หลังจากนั้น มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

9. พ่อของแผ่นดิน ทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรม หรือราชธรรม 10 เป็นธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือคุณสมบัติของนักปกครองที่ดี สามารถปกครองแผ่นดินโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน มีด้วยกัน 10 ประการ คือ

  1. ทาน คือการให้ หมายถึงการสละทรัพย์ สิ่งของ เพื่อช่วยเหลือคนที่ด้อยและอ่อนแอกว่า
  2. ศีล คือการตั้งอยู่ในศีล หมายถึง มีความประพฤติดีงาม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป
  3. ปริจาคะ คือบริจาค หมายถึงการเสียสละความสุขสำราญของตนเพื่อประโยชน์สุขของหมู่คณะ
  4. อาชชวะ คือความซื่อตรง หมายถึง มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความจริงใจ ไม่กลับกลอก
  5. มัททวะ คือความอ่อนโยน หมายถึง มีกิริยาสุภาพ มีสัมมาคารวะ วาจาอ่อนหวาน มีความนุ่มนวล ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หยาบคาย
  6. ตบะ คือความเพียร หมายถึง การเพียรพยายามไม่ให้ความมัวเมาเข้าครอบงำจิตใจ ไม่ลุ่มหลงกับอบายมุขและสิ่งชั่วร้าย ไม่หมกมุ่นกับความสุขสำราญ
  7. อักโกธะ คือความไม่โกรธ หมายถึง มีจิตใจมั่นคง มีความสุขุม เยือกเย็น อดกลั้น ไม่แสดงความโกรธหรือความไม่พอใจให้ปรากฏ
  8. อวิหิงสา คือความไม่เบียดเบียน หมายถึง ไม่กดขี่ข่มเหง กลั่นแกล้งรังแกคนอื่น ไม่หลงในอำนาจ ทำอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สินผู้อื่นตามอำเภอใจ
  9. ขันติ คือความอดทน หมายถึงการอดทนต่อสิ่งทั้งปวง สามารถอดทนต่องานหนัก ความยากลำบาก ทั้งอดทน อดกลั้นต่อคำติฉินนินทา
  10. อวิโรธนะ คือความเที่ยงธรรม หมายถึงไม่ประพฤติผิด ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความดีงาม ไม่หวั่นไหวในเรื่องดีเรื่องร้าย
ซึ่งคุณธรรมทั้ง 10 ข้อนี้ พระองค์ทรงยึดมั่นมาตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระราชดำริ พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ ที่ทรงตักเตือน ให้สติ และเป็นคำสั่งสอนจำนวนมาก พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรของพระองค์ ยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พสกนิกรชาวไทยที่ควรน้อมนำไปปฏิบัติ นักปกครองทั้งหลาย ยิ่งต้องศึกษาและสมควรที่จะดำเนินตามรอยพระยุคลบาท

ทั้งนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พูดถึงการเป็นข้าราชการที่ดีและคนดี โดยประมวลไว้ในหนังสือ “หลักธรรม หลักทำ ตามรอยพระยุคลบาท 10 ประการ” ดังนี้

  1. ทำงานอย่างผู้รู้จริงและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
  2. มีความอดทน มุ่งมั่น ยึดธรรมะและความถูกต้อง
  3. ความอ่อนน้อมถ่อมตน เรียบง่าย และประหยัด
  4. มุ่งประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลัก
  5. รับฟังความเห็นของผู้อื่น และเคารพความคิดที่แตกต่าง
  6. มีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร
  7. มีความสุจริต และความกตัญญู
  8. พึ่งตนเอง ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง
  9. รักประชาชน
  10. การเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน

ซึ่งหลักปฏิบัติ 10 ประการนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ได้บอกเล่าเกี่ยวกับพระราชจริยวัตร และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีงามในทุกด้าน พสกนิกรทุกสาขาอาชีพและทุกชนชั้น สมควรที่จะศึกษาและเรียนรู้เพื่อดำเนินตามรอยพระบาท เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดี สังคมสงบสุข และประเทศชาติเจริญก้าวหน้า

Source: chicministry
ความรู้เพิ่มเติมเรื่องทศพิธราชธรรม: prachachat
Picture: สราวุธ อิสรานุวรรธน์

Share this Post

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.