แก้ปัญหาด้วยปัญญา พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙

“ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มีทางแก้ไขได้ ถ้ารู้จักคิดให้ดี ปฏิบัติให้ถูก การคิดได้ดีนั้น มิใช่การคิดได้ด้วยลูกคิด หรือด้วยสมองกล เพราะโลกเราในปัจจุบันจะวิวัฒนาการไปมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังไม่มีเครื่องมืออันวิเศษชนิดใด สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ การขบคิดวินิจฉัยปัญหา จึงต้องใช้สติปัญญา คือคิดด้วยสติรู้ตัวอยู่เสมอ เพื่อหยุดยั้งและป้องกันความประมาทผิดพลาด และอคติต่าง ๆ มิให้เกิดขึ้น ช่วยให้การใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเที่ยงตรง ทำให้เห็นเหตุเห็นผลที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นกระบวนการได้กระจ่างชัดทุกขั้นตอน”

– พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๑ สิงหาคม ๒๕๓๙ –

เราต่างเข้าใจดีว่า ไม่ว่าจำทำการใดก็ตาม ปัญหาย่อมมีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น หากเราเจอกับปัญหาในเรื่องงานอยู่บ่อยครั้ง และมักจะคิดไม่ตก หาทางแก้ไขไม่ได้ อยากให้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ดังกล่าวข้างต้นมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ตามกระบวนการ 4 วิธี คือ

1. คิดให้ดี

เครื่องมือที่ดีที่สุด ที่ช่วยให้เราแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือล้ำหน้าอะไรทั้งนั้น แต่เป็น “สติปัญญา” ของเรานี่เอง เครื่องมือที่สร้างขึ้นพวกนั้น อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ก็จริง แต่เป็นการแก้ปัญหาได้แค่เป็นกรณีเท่านั้น ถ้าเป็นสติปัญญาของเราแล้ว เราจะสามารถใช้สติปัญญาแก้ปัญหาได้อย่างยืดหยุ่น เพียงแค่หยุดคิด ใช้สติปัญญาพิจารณาปัญหา อย่างเที่ยงตรง และสมเหตุสมผล คุณก็จะมองเห็นต้นเหตุของปัญหา และสามารถคิดวางแผนวิธีแก้ปัญหาได้ต่อไป

2. มองปัญหาภาพรวม

ถ้าจะวิเคราะห์ปัญหาให้ได้ว่าเกิดขึ้นมาจากอะไร อันดับแรกเราจำเป็นต้องมองปัญหาในภาพรวมก่อน พยายามทำความเข้าใจกับปัญหา ว่าอะไรคือปัญหาที่เกิดขึ้น ปัญหาเกิดมาจากอะไร และจะสามารถมีวิธีไหนที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้

3. ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด

เมื่อรู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร ต่อไปเราต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเท่าที่มีอยู่และหาได้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางเอกสาร หรือการสอบถาม เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาศึกษา วิเคราะห์ได้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง และรอบด้าน เพื่อหาว่าปัญหาเกิดจากอะไร และแนวทางในการแก้ไขปัญหาจะเป็นวิธีใดได้บ้าง

4. ปฏิบัติให้ถูก

เมื่อเริ่มเกิดปัญหา อาจจะเริ่มลงมือแก้ปัญหาจากจุดเล็ก ๆ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่คนมักมองข้ามก่อน หลังจากนั้นค่อย ๆ แก้ไปทีละจุดทำตามเป็นลำดับขั้นไป ดังพระราชดำริตอนหนึ่งที่ว่า..

“ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก .. เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน แต่ปวดหัวใช้ยาแก้ปวด..หรือยาอะไรก็ตามแก้ปวดหัว มันไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่จะคิดได้แล้วอีกอย่างก็คือ แบบ Macro นี้ เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย.. อย่างบ้านคนอยู่เราบอกบ้านนี้มันผุตรงโน้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะไปซ่อม… เอาตกลงรื้อบ้านนี้ ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ ก็ต้องค้ำเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ดูตรงนี้ยังพออยู่ได้ .. ไปรื้อตรงห้องโน้นแล้วก็ค่อย ๆ สร้างแล้ว มารื้อตรงห้องนี้.. วิธีทำจะต้องค่อย ๆ ทำจะไประเบิดหมดไม่ได้…”

บางคนก็อาจจะยังคิดไม่ออกกับหนทางการหาทางแก้ปัญหา ไม่ต้องรีบร้อน ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย แก้ไปทีละจุด เหนื่อยนักก็พักก่อน แล้วลองน้อมนำพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ได้นำเสนอนี้มาปรับใช้ ไม่ว่าปัญหาจะเล็กหรือใหญ่ คุณก็จะสามารถแก้ปัญหาด้วยปัญญาของคุณเอง

Source: M2F ฉบับวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม
Picture : สราวุธ อิสรานุวรรธน์

Share this Post

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.